เปิดรายงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ (ตอนที่1)

เปิดรายงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ (ตอนที่1)

รายงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ
ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร
———————————————–

ตามที่คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือร้องทุกข์ของ นางสลวย หาญทะเล ราษฎรเกาะหลีเป๊ะ หมู่ที่ ๗ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เรื่อง ขอให้เร่งดำเนินการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล

และคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนจังหวัดสตูล และภาคประชาชน ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ วันพุธที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันพุธที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖

หลังจากร่างรายงานของคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ แล้วเสร็จ ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันพุธที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ รายงานพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ดังนี้

ผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

๑. ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชาวเลกลุ่มอุรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่นำโดย โต๊ะฆีรี ได้แจวเรือมาจากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างทางได้หยุดแวะพักที่ฆูนุงฌึรัย ประเทศมาเลเซีย และได้เพื่อนมาจำนวน ๔ คน ได้แก่ โต๊ะเอิม โต๊ะบือ และแจบิแนะ ออกเดินทางเพื่อหาพื้นที่ตั้งหลักแหล่ง โดยได้แวะพักที่เกาะลีดีและเกาะบุโหลนใหญ่ ต่อมาเพื่อนโต๊ะฆีรีทั้ง ๓ คน ได้แต่งงานและตั้งถิ่นฐานที่เกาะลันตา (ซึ่งปัจจุบันเกาะเหล่านี้ยังมีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่

ถือว่าเป็นต้นตระกูลของชาวอุรักราโว้ย) แต่โต๊ะฆีรียังคงมีความตั้งใจจะเดินทางแสวงหาที่ทำกินต่อไป หลังจากแต่งงานกับภรรยาคนแรก ซึ่งเป็นชาวอูรักราโว้ยที่เกาะลันตัน โต๊ะฆีรีและแจบิแนะ ได้ออกเดินทางต่อจนถึงเกาะหลีเป๊ะ และตัดสินใจตั้งถิ่นฐานขึ้นที่นี่ จากนั้นโต๊ะฆีรีได้ชักชวนครอบครัวและเครือญาติมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ชาวอูรักราโว้ยอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเกาะหลีเป๊ะและเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ด้วยเหตุผลทางการเมืองเรื่องการปักปันเขตแดน เมื่อเกิดการร่างเส้นแบ่งเขตแดนไทย-มาเลเซีย เจ้าเมืองสตูล (พระยาภูมินารถภักดี) จึงให้ โต๊ะฆีรี เดินทางไปชักชวนชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยจากเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้ไปตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวี

เพื่อเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าแผ่นดินส่วนนี้เป็นของสยาม และหลังจากที่ประเทศมาเลเซียได้เอกราชจากประเทศอังกฤษ จะแสดงสิทธิเหนือดินแดนเกาะหลีเป๊ะก็ทำไม่ได้ เพราะมีครอบครัวของชาวสยามอาศัยอยู่ ชาวอูรักลาโว้ย กลุ่มที่สองนี้ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะหลีเป๊ะ และกระจายไปยังเกาะอื่น ๆ ในเขตหมู่เกาะอาดัง-ราวี เช่น เกาะอาดังและเกาะราวี (วิทยานิพนธ์ “ประวัติศาสตร์ชุมชนอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๔๙” โดย ดาฤนัย จรูญทอง, ๒๕๕๐: ๓๘-๓๙ น.)

อย่างไรก็ตาม มีบันทึกข้อมูลว่า เมื่อประมาณปี ๒๔๕๙ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ข้าหลวงประจำจังหวัดสตูลสมัยนั้น ได้นำครอบครัวชาวเลจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จำนวนหนึ่งมาอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ เพราะเห็นว่าเกาะนี้อยู่ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย เกรงว่าราษฎรชาวมาเลเซียจะเข้ามาอยู่อาศัยอาจเสียดินแดนจากการรุกรานของอาณานิคมอังกฤษ

ประกอบกับเห็นว่าเกาะหลีเป๊ะมีที่ราบพอที่จะปลูกบ้านอาศัยและทำมาหากินได้ ดังนั้น จึงเป็นที่อนุมานได้ว่าบนเกาะหลีเป๊ะมีราษฎรเข้าอาศัยโดยครอบครองและทำประโยชน์ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๙ อันเป็นวันก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามเพื่อการราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (รายงานพิจารณาศึกษาตรวจสอบข้อเท็จ โดยคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ดินในพื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ หมู่ที่ ๗ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ๒๙๕๗/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ ส่งถึง อธิบดีกรมที่ดิน)

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณนี้ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่ม ๙๑ ตอนที่ ๖๘ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๗ และ พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินหวงห้ามของการราชทัณฑ์ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๗ ภายหลังการประกาศอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้มีการสำรวจ พบว่า มีประชากรมากกว่า ๓๐๐ คน ที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี

ทางอุทยานฯ มีนโยบายย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ แต่ด้วยที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก ชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะอาดัง-ราวี จึงได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยโดยต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของอุทยาน ชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะอาดัง-ราวี จึงได้รับความกดดันอย่างมาก จนต้องย้ายไปอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะเกือบหมด เหลือแต่ชาวอูรักลาโว้ยที่อยู่ที่อ่าวตือโละจืองันและตือโละปูยะทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอาดังที่ไม่ยอมย้าย เนื่องจากอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมานาน ในที่สุดทางอุทยานฯ ยอมให้ชาวอูรักลาโว้ยอยู่ที่หาดทั้งสองได้ แต่ห้ามสร้างบ้านเพิ่ม (ดาฤนัย จรูญทอง, อ้างแล้ว : ๖๘-๖๙ น.)

ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เกาะหลีเป๊ะเริ่มมีการสร้างที่พักรับนักท่องเที่ยวและการขยายพื้นที่สร้างรีสอร์ต จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ส่งผลให้เกิดปัญหาการบุกรุกที่ดินเพิ่มมากขึ้น กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่มีผู้บุกรุกที่ดินที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อทำรีสอร์ต ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัดสตูล และส่วนราชการในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

(๑) สั่งการให้จังหวัดสตูลเร่งสำรวจข้อมูลและขึ้นทะเบียน การอยู่อาศัยและครอบครองที่ดินของชาวหลีเป๊ะ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาเพิ่มในภายหลัง

(๒) สั่งการให้กรมโยธาธิการ เร่งรัดการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเรื่องการควบคุมการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง บนเกาะหลีเป๊ะ และเกาะใกล้เคียง เพื่อเป็นการป้องกันนายทุนไปกว้านซื้อที่ดินจากชาวเกาะหลีเป๊ะเพื่อสร้างเป็นรีสอร์ต

(๓) สั่งการให้กรมที่ดินและจังหวัดสตูล เร่งรัดดำเนินการขอเพิกถอน ส.ค. ๑ จำนวน ๑๗ แปลง และ น.ส. ๓ จำนวน ๑๒ แปลง ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยเร็วพร้อมกับให้ติดตามผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในที่ดิน จำนวน ๑๐ แปลงที่อ้างว่าออก น.ส. ๓ และ ส.ค. ๑ โดยชอบด้วยกฎหมาย (หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๑๐๐/๖๔๑๑ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๓ เรื่อง การบุกรุกที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามโดย นายบรรหาร ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย)

กระแสการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะมีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะถูกขับไล่ให้ต้องค่อย ๆ ถอยร่นจากที่เคยตั้งบ้านอยู่ริมหาดเข้าไปอยู่ด้านใน จากการขยายตัวของโรมแรมและรีสอร์ต และเกิดการกว้านซื้อที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ และการฟ้องขับไล่ชาวเลออกจากที่ดินและที่อยู่อาศัยที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมเพิ่มขึ้น จนเวลาต่อมาเกิดข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง อาทิ
– พ.ศ. ๒๕๕๗ เจ้าของที่ดินอ้างกรรมสิทธิ์สร้างกำแพงและประตูกั้นหาดบนพื้นที่ ๑ ไร่ ปิดทางเข้าออกหาดดั้งเดิม และทำให้ชาวเลออกเรือได้ลำบากขึ้น
– พ.ศ. ๒๕๖๑ โรงแรมได้อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินฟ้องชาวเลให้รื้อกระท่อมซ่อมเรือขนาด ๕ ตารางเมตร ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษาให้ชาวเลแพ้คดีเพราะไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง
– พ.ศ. ๒๕๖๕ เอกชนสร้างรั้วกั้นบนที่ดินปิดกั้นทางสัญจรดั้งเดิมที่ชาวเลมักใช้เดินทางไปโรงเรียน สถานีอนามัย และจุดจอดเรือ จนมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสิทธิบนที่ดินใหม่ทั้งเกาะ และล่าสุด นายธัชชญาณ์ณัช เจียรนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ได้เดินทางลงพื้นที่ไปรับหนังสือด้วยตัวเอง

หมายเหตุ: สื่อเถื่อนข่าว จะนำรายงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะมาเปิดเผยเป็นตอนๆโดยไม่มีการตัดต่อดัดแปลงข้อความ รายงานทีสื่อเถื่อนข่าวนำมาเปิดเผยเป็นรายงานที่ทำการศึกษาเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยเริ่มเปิดเผยวันนี้เป็นตอนแรก

#สื่อเถื่อนข่าว #ชาวอุรักลาโว้ย #ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ #เกาะหลีเป๊ะ #สตูล #รายงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ