สงขลา: คนสิงหนครเฮ มะม่วงเบาได้ยกระดับเป็นสินค้า GI
เมื่อวันที่7มค.ที่อ.สิงหนคร จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มะม่วงเบาสงขลาได้ยกระดับเป็นสินค้า GI เกษตรอำเภอเผยมีอัตลักษณ์ ที่โดดเด่น เริ่มลุยขั้นตอนเพื่อเปิดให้ผู้ปลูกและแปรรูปมะม่วงขึ้นทะเบียน
กรณีกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์“มะม่วงเบาสงขลา” ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมของคนในจังหวัดและนักท่องเที่ยวที่มักซื้อนำไปเป็นของฝากจากจังหวัด และมีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนกว่า 58 ล้านบาท/ปี โดยมีผลิตภัณฑ์มะม่วง ทั้งผลมะม่วงเบาสด มะม่วงเบาแช่อิ่ม มะม่วงเบาดองเกลือ ได้รับการขึ้นทะเบียน GI
นายสุชาติ แสงทอง เกษตรอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกยินดีกับการที่มะม่วงเบาสงขลา ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะรับทราบตั้งแต่ขั้นตอนการในการยื่นเพื่อขอขึ้นทะเบียน GI มาก่อนแล้ว
ซึ่งแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นมะม่วงเบาสงขลา แต่จริงๆแล้ว ตัวอย่างรวมถึงคุณลักษณะเด่นที่ยื่นขอไปนั้นเป็นมะม่วงเบาจากอำเภอสิงหนคร ซึ่งมีความเด่น ทั้งในเรื่องของขนาดผล เนื้อแป้งในมะม่วง ความโดดเด่นในรสชาติที่จะเปรี้ยวจื้ด ซึ่ง คุณลักษณะเหล่านี้ จะมีอยู่ในมะม่วงที่ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอคาบสมุทนสทิงพระ ได้แก่ สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์และระโนด
โดยหลังได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน GI แล้ว ก็ได้ทำการประชุมชี้แจงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก ผู้แปรรูปได้รับทราบ และ ชี้แจงขึ้นตอนการของการขึ้นทะเบียน ที่จะต้องมีการสมัคร รวมถึง มะม่วงเบาทั้งผลสด แช่อิ่ม และดองเกลือ จะต้องมีคุณลักษณะตรงตามที่กำหนดเอาไว้ จึงจะได้ยกระดับเป็นสินค้า GI ได้
โดยขณะนี้ในอำเภอสิงหนคร มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเบาประมาณ 700 ไร่ เกษตรกรประมาณ 300 ราย โดยต้นมะม่วงเบาที่นี่นั้นจะมีอายุหลายสิบปีมาแล้ว ต้นแก่สุดมีอายุถึง 120 ปี และขณะนี้มะม่วงเบาสิงหนคร ผลสด มีราคากิโลกรัมละ 70 บาทเลยทีเดียว
โดยมะม่วงที่ปลูกในคาบสมุทรสทิงพระนั้น จะมีความเด่นพิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ อาจจะมีดิน ที่มีความพิเศษ จากความเป็นพื้นที่คาบสมุทร ผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพทั้งความเปรี้ยวจัด ความกรอบ และกลิ่นเฉพาะตัว
ซึ่งในส่วนของเกษตรกรอำเภอเองก็จะส่งเสริมให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมะม่วงเบาที่ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอจะให้ผลผลิตที่สูง ราคาดี เมื่อเทียบกับการใช้พื้นที่ปลูกพืชอื่นที่แตกต่างกันมาก อีกทั้ง ขณะนี้ความต้องการของตลาดก็มีสูงมาก เนื่องจากมีการนำไปแปรรูป ที่มีพัฒนาการหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเองมีโอกาสมากขึ้นด้วย
#สงขลา #มะม่วงเบาสงขลาได้ยกระดับเป็นสินค้าGI #สิงหนคร #สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์